วันพฤหัสบดีที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2555

"การพัฒนาอย่างยั่งยืน" (Sustainable Development)


"การพัฒนาอย่างยั่งยืน" (Sustainable Development)
คอลัมน์ ล่องคลื่นโลกาภิวัตน์  โดย สฤณี อาชวานันทกุล www.fringer.org  ประชาชาติธุรกิจ  วันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 3987 (3187)

นับวันผลเสียของวิถีการพัฒนาแบบ "สุดโต่ง" ที่เน้นเรื่องอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเพียงมิติเดียว โดยไม่สนใจมิติอื่นๆ โดยเฉพาะคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ก็ยิ่งปรากฏให้เราเห็นชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ในแทบทุกประเทศในโลก เป็นสาเหตุสำคัญ ที่ฝ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ รัฐบาล และองค์กรโลกบาลหลายแห่งหันมาให้ความสำคัญ กับแนวคิดใหม่ที่เรียกว่า "การพัฒนาอย่างยั่งยืน" (sustainable development) มากขึ้นเรื่อยๆ

ในรายงานพัฒนามนุษย์ (Human Development Report) ประจำปี ค.ศ.1996 เครือข่ายเพื่อการพัฒนาระดับโลก แห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme หรือยูเอ็นดีพี) ระบุว่า "คุณภาพ" ของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสำคัญกว่า "อัตรา" การเจริญเติบโตดังกล่าว ยูเอ็นดีพีขยายความว่า แบบแผนการเจริญเติบโตที่ทำความ เสียหายในระยะยาวมีทั้งหมด 5 รูปแบบด้วยกัน ได้แก่ การเติบโตที่ไม่สร้างงานให้กับประชากร (rootless growth), การเติบโตที่ทิ้งห่างกระแสประชาธิปไตย (voiceless growth), การเติบโตที่กดทับอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมจนสิ้นสลาย (rootless growth), การเติบโตที่ทำลาย สิ่งแวดล้อม (futureless growth), และการเติบโตที่ประโยชน์ส่วนใหญ่ตกอยู่ในมือคนรวยเท่านั้น (ruthless growth)

ยูเอ็นดีพีสรุปว่า การเติบโตทั้ง 5 รูปแบบดังกล่าวนั้นล้วนเป็นการเติบโตที่ "ทั้งไม่ยั่งยืน และไม่สมควรจะยั่งยืน"

แนวคิด "การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ไม่ใช่เรื่องใหม่ วัฒนธรรมมากมายในประวัติศาสตร์มนุษย์ รวมทั้งวัฒนธรรม ชุมชนในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ได้มองเห็นความจำเป็นของการสร้าง ความสมดุลระหว่างสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่เป็นเรื่อง "ใหม่" ในโลกยุคโลกาภิวัตน์ คือความพยายามที่จะนิยาม สร้างองค์ความรู้อย่างเป็นระบบ และแจกแจงองค์ประกอบต่างๆ ของแนวคิดนี้ในบริบทของสังคมอุตสาหกรรมและข้อมูลข่าวสารระดับโลก

เราอาจสาวรากของแนวคิด "การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ไปถึงหนังสือเรื่อง "Silent Spring" (ฤดูใบไม้ผลิที่เงียบงัน) โดย Rachel Carson ตีพิมพ์ครั้งแรก ปี 1962 ตีแผ่ผลกระทบของยาฆ่าแมลง ที่เรียกว่า DDT ต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ด้วยข้อมูลที่หนักแน่นน่าเชื่อถือ ทำให้เรื่องนี้อยู่ในความสนใจของประชาชนอเมริกันอย่างกว้างขวาง และนำไปสู่การประกาศแบน DDT ในปี 1972 นักสิ่งแวดล้อม ส่วนใหญ่ยกย่อง Silent Spring ว่าเป็น "จุดเปลี่ยน" ที่ทำให้คนจำนวนมาก หันมาตระหนักถึงความเกี่ยวโยงอย่างแนบแน่นระหว่างสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม

"การพัฒนาอย่างยั่งยืน" หมายความว่าอะไร และมีลักษณะอย่างไร ? วันนี้ผู้เขียนจะเก็บข้อความจากเนื้อหาในเว็บไซต์ Sustainability Development Gateway (SD Gateway-http://sdgateway.net/) มาเล่าสู่กันฟังดังต่อไปนี้ :

"การพัฒนาอย่างยั่งยืน" สำหรับแต่ละคนย่อมมีความหมายไม่เหมือนกัน เนื่องเพราะ "ระยะยาว" ของแต่ละคน อาจยาวสั้นแตกต่างกัน แต่นิยามที่คนนิยมอ้างอิงมากที่สุดมาจากรายงานชื่อ "อนาคตร่วมของเรา" (Our Common Future หรือที่รู้จักในชื่อ "รายงานบรุนด์ท์แลนด์" -the Brundtland Report) โดยรายงานดังกล่าว ระบุว่า "การพัฒนาอย่างยั่งยืน หมายถึงวิถีการพัฒนาที่สามารถตอบสนองความต้องการของปัจจุบัน โดยไม่ลิดรอนความสามารถของคนรุ่นหลัง ในการตอบสนองความต้องการของพวกเขา"

เป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ไม่ได้อยู่ที่อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ หากอยู่ที่การปรับปรุงคุณภาพชีวิต ของประชากรโลก ในทางที่ไม่เพิ่มระดับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติจนเกินศักยภาพของธรรมชาติ ที่จะผลิตมันให้มนุษย์ใช้อย่างไร้ขีดจำกัด การพัฒนาอย่างยั่งยืนต้องอาศัยความเข้าใจว่า การนิ่งเฉยไม่ทำอะไรเลยมีผลกระทบ และเราต้องหาหนทางใหม่ๆ ในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเชิงสถาบันและพฤติกรรมของปัจเจกชน

แนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนรุดหน้า ไปอย่างรวดเร็วตั้งแต่ทศวรรษ 1980 ในปี 1992 ผู้นำนานาชาติที่มาพบกันในการประชุมสุดยอดแห่งโลก (Earth Summit) ในกรุงริโอ เดอ จาเนโรในบราซิล นำเค้าโครงของรายงานบรุนด์ท์แลนด์ไปสร้างสนธิสัญญาและแถลงการณ์เกี่ยวกับประเด็นหลักๆ ด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การตัดไม้ทำลายป่า และความหลากหลายทางชีวภาพ นอกจากนี้ผู้เข้าประชุมยังได้ร่วมกันร่างแผนกลยุทธ์กว้างๆ เรียกว่า "Agenda 21" เพื่อใช้เป็นแผนที่สำหรับงานด้าน สิ่งแวดล้อมและการพัฒนาในอนาคต หลังจากการประชุมสุดยอดครั้งประวัติศาสตร์ดังกล่าว ก็มีกลุ่มต่างๆ ตั้งแต่ธุรกิจ รัฐบาลท้องถิ่น ไปจนถึงองค์กรโลกบาลอย่างธนาคารโลก ที่นำแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนไปตีความ ต่อยอด และปรับใช้ในบริบทของตัวเอง จวบจนปัจจุบัน และยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

ถึงแม้ว่าการพัฒนาอย่างยั่งยืนจะเป็นแนวคิดลื่นไหลที่วิวัฒนาการไปเรื่อยๆ ก็มีลักษณะสำคัญบางประการที่อยู่ภายใต้ เส้นความคิดหลายกระแส ได้แก่

1) ความเท่าเทียมกัน (equity) และความยุติธรรม (fairness) เป็นประเด็นสำคัญ การพัฒนาอย่างยั่งยืน อยากตอบสนองความต้องการของคนจนและประชากรผู้ด้อยโอกาส ไอเดียเรื่องความเท่าเทียมกัน และความยุติธรรมเป็นส่วนประกอบสำคัญในนิยามของ "การพัฒนาอย่างยั่งยืน" เพราะตั้งอยู่บนข้อเท็จจริงที่ว่า ถ้าเราละเลยผลกระทบจากการกระทำ ของเราต่อคนอื่นในโลกที่เกี่ยวโยงซึ่งกันและกัน เราก็ต้องยอมรับความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายขึ้นกับตัวเองในอนาคตด้วย

เนื่องจากระบบเศรษฐกิจและนโยบายสาธารณะของเราส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากร เราจึงต้องเปลี่ยนแปลงระบบเหล่านี้ ความยุติธรรมหมายความว่า ประเทศแต่ละประเทศ ควรมีโอกาสในการพัฒนาตัวเองบนพื้นฐานของคุณค่าทางวัฒนธรรมและสังคมของตัวเอง โดยไม่ปฏิเสธว่าประเทศอื่นๆ ก็ล้วนมีสิทธิดังกล่าวเช่นเดียวกัน หนึ่งในความท้าทาย ที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบันคือ เราจะปกป้องสิทธิของคนที่ไม่มีสิทธิออกเสียงได้อย่างไร คนรุ่นหลังที่ยังไม่เกิดไม่สามารถออกความเห็น หรือปกป้องผลประโยชน์ของพวกเขา ในกระบวนการตัดสินใจต่างๆ ของคนรุ่นปัจจุบัน ถ้าการพัฒนาจะยั่งยืนได้จริง เราจะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของพวกเขาด้วย

2) มีมุมมองระยะยาว (long-term view) ภายใต้หลักความรอบคอบ (precautionary principle) "ระยะยาว" ยาวแค่ไหน ? ในสังคมตะวันตกยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การวางแผนของภาครัฐมองระยะเวลาเพียง 3-5 ปีเท่านั้น ปัจจุบัน "ระยะยาว" ในความหมายของ นักค้าหุ้นและนักค้าเงินคือระยะเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ ในขณะที่ชาวอินเดียนแดงในอเมริกาวางแผนสำหรับ "คนรุ่นที่ 7 นับจากนี้" พวกเขาวางแผนเป้าหมายและกิจกรรมต่างๆ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อคนรุ่นหลังอีกเจ็ดชั่วคน เท่ากับว่าวางแผนล่วงหน้าถึง 150 ปีทีเดียว สำหรับแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผู้เชี่ยวชาญบางคนเสนอว่า ตราบใดที่คนรุ่นหนึ่งคิดถึงคนรุ่นต่อไป (ประมาณ 50 ปี) ก็แปลว่าคนทุกรุ่นจะได้รับการดูแล แน่นอนถ้าเรามองเห็นว่าเรื่องใดก็ตาม จะส่งผลกระทบที่เกิดขึ้นในอนาคตที่ไกลกว่านั้น เราก็ควรจะวางแผนให้ยาวขึ้น ไม่มีคนรุ่นไหนสามารถการันตีผลลัพธ์ในอนาคตที่พยากรณ์ไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่มีคนรุ่นไหน ที่ควรทำเป็นมองไม่เห็นผลลัพธ์ที่พยากรณ์ได้

ในโลกที่เรารู้แล้วว่าทุกมิติมีความเกี่ยวโยงและส่งผลกระทบซึ่งกันและกันเพียงใด ปฏิสัมพันธ์ที่สลับซับซ้อนกำลังเร่งอัตราการเปลี่ยนแปลงและการก่อเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ในสถานการณ์เช่นนี้ หลักความรอบคอบช่วยแนะแนวให้เราได้ หลักการ ชุดนี้บอกว่า เมื่อกิจกรรมใดๆ ก็ตามเพิ่มขีดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม หรือสุขภาพมนุษย์ เราควรต้องใช้มาตรการป้องกันและบรรเทาผลกระทบ ถึงแม้ว่านักวิทยาศาสตร์อาจจะยังไม่สามารถพิสูจน์ความสัมพันธ์ที่เป็นเหตุและผลได้ทั้งหมด

3) การคิดแบบเป็นระบบ (systems thinking) ซึ่งต้องอาศัยความเข้าใจในความเชื่อมโยงระหว่างสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม เป็นเวลานานกว่า 2 ศตวรรษแล้วที่เรารู้ว่า โลกนี้เป็นระบบปิดที่มีทรัพยากรจำกัด เมื่อนักสำรวจทำงานสำรวจผิวดิน และพื้นน้ำสำเร็จลง คนก็ค่อยๆ เข้าใจว่าโลกนี้ไม่มีทรัพยากร "ใหม่" เรามีโลกเพียงใบเดียว กิจกรรมทั้งหมดของเราเป็นเพียงส่วนเสี้ยวเดียวของระบบธรรมชาติที่ใหญ่ยิ่งกว่า เราต้องมองเห็นว่าระบบที่เดินด้วยน้ำมือมนุษย์ทั้งหมดนั้นอยู่ภายในระบบนิเวศที่ใหญ่กว่า ก่อนที่จะสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืน กับสิ่งแวดล้อม และทำให้เรามั่นใจได้ว่าเผ่าพันธุ์มนุษย์ จะอยู่รอดต่อไปในอนาคต

ทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมดที่มนุษย์ใช้ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร น้ำ ไม้ เหล็ก ฟอสฟอรัส น้ำมัน และทรัพยากรอื่นๆ อีกหลายร้อยชนิด ล้วนมีขีดจำกัดทั้งในแง่ของแหล่งที่มาและแหล่งที่ไป (sink) แนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนบอกเราว่า เราไม่ควรนำทรัพยากรธรรมชาติออกมาใช้ในอัตราที่เร็วกว่าความสามารถของเราในการผลิตทรัพยากรทดแทน และเราก็ไม่ควรทิ้งทรัพยากรธรรมชาติในอัตราที่เร็วกว่าอัตราที่ธรรมชาติจะสามารถดูดซับมันกลับเข้าไปในระบบ ถึงแม้ว่าปัญหาทรัพยากรร่อยหรอจะเป็นประเด็นกังวลหลักของนักสิ่งแวด ล้อมในอดีต วันนี้นักสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่ เป็นกังวลเรื่องที่เราจะไม่เหลือแหล่งทิ้งทรัพยากรแล้วมากกว่า ปัญหาโลกร้อน รูในชั้นโอโซน และความขัดแย้งเรื่องการ ส่งออกขยะอันตราย ล้วนเป็นปัญหาที่เกิดจากการที่เราพยายามทิ้งทรัพยากร เร็วกว่าอัตราที่ธรรมชาติจะสามารถรองรับได้

การคิดแบบเป็นระบบผลักดันให้เราเข้าใจว่า ถึงแม้โลกจะมีเพียงใบเดียว มันก็เป็นโลกที่ประกอบด้วยระบบย่อย (sub systems) มากมายที่มีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกัน และกัน ปัจจุบันการพัฒนาโมเดลต่างๆ เพื่ออธิบายระบบย่อยเหล่านี้ได้รุดหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง โมเดลเหล่านี้เป็นกรอบคิดที่เป็นประโยชน์สำหรับการเลือกดัชนีชี้วัดความคืบหน้าของการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ระบบย่อยต่างๆ ในโลกล้วนเชื่อมโยงกันผ่านกระบวนการที่ภาษาวิทยาศาสตร์เรียกว่า "ห่วงโซ่ตอบกลับ" (feedback loop) อันสลับซับซ้อน วิทยาศาสตร์แขนงใหม่ที่ศึกษาความซับซ้อนของระบบต่างๆ บอกเราว่า ในระบบบางระบบ เหตุการณ์เล็กมากๆ อาจก่อให้เกิดผลลัพธ์ขนาดใหญ่ที่รุนแรงและพยากรณ์ไม่ได้ล่วงหน้า ด้วยการ จุดชนวนซีรีส์เหตุการณ์ที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ยกตัวอย่างเช่น ตอนนี้เรารู้แล้วว่าการปล่อยมลพิษในซีกโลกเหนือส่งผลให้ชั้นโอโซนเหนือทวีปแอนตาร์กติกาบางลง และเร่งอัตราการเกิดมะเร็งผิวหนังในซีกโลกใต้ วิกฤตการเงินในเอเชียส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก และสงครามระหว่างชาติพันธุ์ในทวีปแอฟริกากลางก่อให้เกิดการอพยพขนานใหญ่ของประชากรไปยังบริเวณใกล้เคียง สร้างแรงตึงเครียดต่อระบบในประเทศเหล่านั้นจนถึงจุดแตกหัก เป็นชนวนให้เกิดวิกฤตและการอพยพต่อไปเป็นทอดๆ

ตั้งแต่ผู้นำโลกที่ร่วมประชุม Earth Summit ประจำปี 1992 ตกลงกันว่าจะร่วมมือกันผลักดันการพัฒนาอย่างยั่งยืน ให้เกิดเป็นรูปธรรม ท่านผู้อ่านอาจสงสัยว่าในระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา แนวคิดนี้คืบหน้าไปมากน้อยเพียงใด มีกรณีใดบ้างเป็นความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมชัดเจน และมีกรณีใดบ้างที่ต้องนับว่าเป็นความล้มเหลว ?

โปรดติดตามตอนต่อไป

Yadadeesign : 081 727 9759 ร่วมเผยแพร่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น