วันพุธที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ดร.สรรพสิริ อรชัยธ์ลาภ

ดร.สรรพสิริ อรชัยธ์ลาภ
คอลัมน์: ดุลยภาพ ดุลยพินิจ: อนาคตแรงงานพม่า หลังการปฏิรูปฯ

          สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
          การปฏิรูปเศรษฐกิจและการเมืองของพม่าในช่วงปีกว่าที่ผ่านมา รวมทั้งกระแสการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 บวกกับการปล่อยตัว นางออง ซาน ซูจี และการเดินสายของเธอมาประเทศไทยเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมศกนี้ ทำให้วงการธุรกิจ ตลาดแรงงาน ตลอดจนหน่วยงานด้านความมั่นคงของไทย เริ่มมีคำถามว่าหลังจากนี้แรงงานพม่าจะกลับบ้านกันหมดหรืออย่างไร
          แรงงานพม่าเข้ามาทำมาหากินในประเทศไทยอย่างเป็นเรื่องเป็นราวตั้งแต่ปี 2531 ซึ่งตอนนั้นนายกรัฐมนตรีชาติชาย ชุณหะวัณ มีนโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า และยอมให้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทำงานได้ หลังจากเดิมไทยต้องเผชิญหน้ากับประเทศเพื่อนบ้านอยู่ตลอดเวลา
          ณ วันนี้ มีแรงงานพม่าในประเทศไทยประมาณ 2.3 ล้านคน ประกอบด้วยแรงงานที่ได้ขึ้นทะเบียนผ่อนผัน 9 แสนกว่าคน ชนกลุ่มน้อย 2,400 คน แรงงานที่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติแล้ว 4 แสนคน แรงงานนำเข้าโดยตรง 8 พันคน และแรงงานที่ได้รับใบอนุญาตทำงานประเภททั่วไปอีกพันกว่าคน บวกกับแรงงานพม่าเข้าเมืองผิดกฎหมายแต่ไม่มารายงานตัวขึ้นทะเบียนอีกไม่ทราบจำนวน แต่เดากันว่าประมาณไม่น้อยกว่า 1 ล้านคน
          แรงงานทั้งหมดนี้เป็นกำลังสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ถ้าแรงงานพม่ากลับไปหมด ประเทศไทยก็คงเดือดร้อนพอสมควร
          แรงงานพม่าจะกลับบ้านหรือไม่ เร็วช้าประการใดขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองของพม่า
          การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของพม่า คือการเลือกตั้งทั่วไปที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ.2553 นับเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกของพม่าในรอบ 20 ปี ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งได้ประกาศใช้เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2551 โดยสภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ (State Peace and Development Council : SPDC) เดิมชื่อ สภาฟื้นฟูกฎหมายและระเบียบแห่งรัฐ หรือสล็อร์ก (SLORC)
          ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า พรรคสหภาพเอกภาพและการพัฒนา (หรือพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา - Union Solidarity and Development Party : USDP) ได้รับชัยชนะ และพลเอกเต็ง เส่ง หัวหน้าพรรคได้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เป็นประธานาธิบดีจากฝ่ายพลเรือนคนแรกภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร ซึ่งครองประเทศมาเป็นเวลากว่า 50 ปี (นายพลเต็ง เส่งเคยเป็นนายกรัฐมนตรีของพม่า ระหว่าง พ.ศ.2550-2554)
          ปีที่แล้ว ประธานาธิบดีเต็ง เส่งได้ประกาศนโยบายปฏิรูปประเทศ ซึ่งประกอบด้วยการปราบคอร์รัปชั่น การกำหนดอัตราแลกเปลี่ยน การออกกฎหมายการลงทุนของชาวต่างชาติและการเก็บภาษี การลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มจาก 300 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2552-2553 เป็น 2 หมื่นล้านเหรียญ ในปี 2553-2554 หรือเท่ากับเพิ่มขึ้น 667 เปอร์เซ็นต์ การไหลเข้าของทุนนอกมหาศาลทำให้ค่าเงินจ๊าดแข็งขึ้นประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ รัฐบาลได้แก้ไขสถานการณ์โดยลดความเข้มงวดการนำเข้า พร้อมกับยกเลิกภาษีขาออก พม่าคุยว่าในปี 2554 เศรษฐกิจโตขึ้นร้อยละ 8.8
          ขณะเดียวกัน นางออง ซาน ซูจี ได้รับเลือกตั้งซ่อมเมื่อเดือนเมษายน 2553 และได้รับการปล่อยตัวเมื่อ 13 พฤศจิกายน พ.ศ.2553
          นอกจากนี้การปฏิรูปฯยังมีโครงการท่าเรือน้ำลึกที่ทวายมูลค่า 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (1.8 ล้านล้านบาท) ซึ่งฮือฮาว่าจะสร้างงานได้มหาศาล มีแผนการและนโยบายให้ธนาคารต่างชาติเข้าไปลงทุนในพม่าได้ในปี 2558 มีกฎหมายส่งเสริมการลงทุนที่กำลังจะคลอด และนโยบายค่าเงินจ๊าดลอยตัว
          เรื่องดีๆ ที่ตามมา เช่น สหรัฐผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรพม่า ล่าสุด เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2555 สหรัฐประกาศคลายข้อจำกัดด้านการลงทุนของนักลงทุนสหรัฐในพม่า สหภาพยุโรปประกาศระงับการคว่ำบาตร (ยกเว้นด้านอาวุธ) ระหว่างวันที่ 16 พฤษภาคม 2555 ถึง 30 เมษายน 2556
          เมื่อเดือนมีนาคมศกนี้ พม่าได้ร่างกฎหมายการลงทุนของต่างชาติฉบับแรกในช่วงกว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา กฎหมายฉบับนี้เปิดกว้างมากขึ้น นักลงทุนต่างชาติไม่ต้องมีหุ้นส่วนชาวพม่า และสามารถเช่าที่ดินระยะยาวได้ แต่ก็ยังระบุว่าต้องจ้างแรงงานพม่าไม่ต่ำกว่าร้อยละ 25 และต่อมาให้เพิ่มสัดส่วนเป็นร้อยละ 50-75 เมื่อแรงงานมีการพัฒนาฝีมือมากขึ้น
          นอกจากนั้น เอดีบีก็ได้กลับเข้าไปให้ความช่วยเหลือด้านการเงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไอเอ็มเอฟ เริ่มเข้าไปช่วยวิเคราะห์เศรษฐกิจหลังจากการเข้าไปครั้งสุดท้ายเมื่อ 13 ปีก่อน รวมทั้งนานาประเทศก็ตื่นเต้นกับการปฏิรูปพม่าพอดู
          อนาคตของพม่าดูสดใส
          แต่ ช้าก่อน
          ยังมีอีกผู้สันทัดกรณีอีกหลายคนที่มองพม่าด้วยความเป็นห่วง โดยรวมๆ คือการปรับตัวเป็นเศรษฐกิจแบบตลาดของพม่าคงยังไม่ค่อยราบรื่น โดยชี้ว่ากระแสการปฏิรูปยังอยู่แค่ย่างกุ้งและมัณฑะเลย์ แต่ในเมืองรอบนอกยังมีกลุ่มผลประโยชน์ที่ยังต่อต้านการเปลี่ยนแปลงอยู่ วงการทูตของประเทศตะวันตกก็มองพม่าด้วยความเป็นห่วงว่าการปฏิรูปของพม่าจะมีการ กลับหลังหันหรือไม่ ที่สำคัญ ชนกลุ่มน้อยที่ไม่ใช่พม่าซึ่งอยู่ในภาคอื่นๆ มากมายนั้น เขาไม่แน่ใจว่ามีการปฏิรูปด้วยซ้ำ (พม่ามีชาติพันธุ์พม่า 63% ที่เหลือเป็นไทยใหญ่ มอญ ยะไข่ กะเหรี่ยง คะฉิ่น ไทย ชิน และอื่นๆ มีภาษาหลักที่ใช้ 18 ภาษา)
          ไทยใหญ่ในรัฐฉานซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่ใหญ่ที่สุดของพม่า ไทยใหญ่มีทรัพยากร เช่น ไม้สัก และแร่ ธาติมากมาย และเป็นรัฐเชื่อมต่อทำการค้าระหว่างพม่ากับจีน พื้นที่เศรษฐกิจส่วนนี้ยังมีปัญหาคอร์รัปชั่นและความบิดเบี้ยวของระบบเศรษฐกิจพม่า ซึ่งเกิดจากทหารพม่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ล่าเสี้ยว (ประมาณ 200 กม. จากมัณฑะเลย์) ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองทัพภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทหารที่ตั้งอยู่ที่นี่ส่วนใหญ่เป็นพม่าต้องสู้รบกับการก่อการร้ายไทยใหญ่เป็นเวลานับ 10 ปี และได้มีการลงนามในสัญญาหยุดยิงไปเมื่อเดือนมกราคมแต่ก็ไม่ได้ทำตามสัญญา
          ที่รัฐฉานทหารพม่าทำไร่ ทำนาเอง โดยบังคับให้ชาวบ้านทำให้ ที่ป่าหรือไร่นายังเป็นของทหาร แต่ละเมือง (จังหวัด) จะมีกองทหารพม่าประจำอยู่ทางเข้าและทางออก สำหรับด้านที่ไม่มีกองทหารตั้งทัพอยู่ก็จะเกณฑ์ให้ชาวบ้านสร้างรั้วล้อมรอบเขตชานเมืองทุกด้าน ทางเข้าและทางออกจะมีด่านตรวจ และมีการเปิด-ปิดเป็นเวลา ด้านที่ไม่มีทหารอยู่ ประชาชนต้องทำด่านไว้ แล้วก็สับเปลี่ยนกันวันละบ้านไปเฝ้าเป็นยามตลอด 24 ชั่วโมง แต่ละเมืองจะมีการเปิดบ่อนการพนันและหวยอย่างเสรี ทั้งกลางวันและกลางคืน โดยต้องส่งบำเหน็จให้ทหาร
          นอกจากการรีดไถโดยตรงแล้ว ยังมีบังคับขายสินค้าที่ทหารผลิตในราคาสูงกว่าตลาด ตัวอย่างเช่น ฟาร์มไก่ของทหารที่ล่าเสี้ยว รถค้าไก่จากที่อื่นเข้ารัฐฉานจะถูกไล่กลับ เพื่อให้ราคาไก่ของทหารที่ล่าเสี้ยวตั้งราคาได้สูงๆ
          ที่แย่ไปกว่านั้นคือ ทหารพม่ามีเอี่ยวในการปลูกและจำหน่ายฝิ่นในพื้นที่ดังกล่าว เมื่อได้รับการกดดันจากสหรัฐ จีน และไทยก็ร่วมมือกับกองกำลังทหารประชาชน (People's Militia Forces : PMFs) ปลูกฝิ่นมากขึ้นแต่ย้ายไปไกลตามากขึ้น รวมทั้งมีการเลือกปฏิบัติในการตรวจจับการขนฝิ่น โดยจับแต่พวกที่ไม่ใช่ PMFs 
          ไม่แต่เท่านั้น ยังมีการตัดโค่นไม้สักส่งไปจีน โดยความร่วมมือของทหารจนป่าไม้บริเวณดังกล่าวโกร๋นเหมือนโดนปัตตะเลี่ยนยักษ์ไถ
          อีกรัฐหนึ่งคือ รัฐยะไข่ ที่ดังไปทั่วโลกเมื่อต้นเดือนมิถุนายนนี้ เพราะปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธกับโรฮิงญา ชาวมุสลิมนิกายสุหนี่ เกิดจลาจลเผาทำลาย มีโรฮิงญาถูกฆ่าจำนวนมาก รวมทั้งปัญหาเชื้อชาติในรัฐนี้ที่เรื้อรังมานาน และรัฐบาลพม่ายังไม่สามารถแก้ไขได้

          สำหรับโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายมูลค่า 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (1.8 ล้านล้านบาท) ซึ่งฮือฮาว่าจะสร้างงานได้มหาศาลนั้น เป็นโครงการ 60 ปี แบบสร้าง บริหาร และถ่ายโอนให้รัฐ ซึ่งบริษัทอิตัลไทย ดีเวลลอปเม็นต์ ประมูลได้เมื่อปี 2553 จะสร้างบนพื้นที่ 250 ตารางกิโลเมตร การสร้างท่าเรือดังกล่าวยังอยู่ในขั้นวางแผน โดยในระยะแรกจะเป็นการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและใช้ทุน 8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งต้องเริ่มจากศูนย์เพราะพม่าไม่มีอะไรเลย ตามข่าวว่าขณะนี้ยังไม่มีการลงมือสร้างแต่อย่างใด เพราะผู้รับเหมายังหาแหล่งเงินกู้ไม่ได้ แต่บริษัทผู้รับเหมาได้แถลงว่าได้แหล่งเงินกู้แล้วแต่บอกไม่ได้ว่าเป็นที่ใด
          พม่ายังมีปัญหาอีกมาก ที่สำคัญคือฝ่ายทหารที่เคยเรืองอำนาจอยู่ว่าจะหันมาทวงอำนาจคืนหรือไม่ รวมทั้งจุดอ่อนของนางออง ซาน ซูจี นางเอกของพม่าที่ไม่กล้าแสดงจุดยืนชนกลุ่มน้อยเช่นโรฮิงญาได้
          กรุงโรมไม่ได้สร้างได้ในวันเดียว
สรุปว่า แรงงานพม่ายังไม่ได้กลับบ้านง่ายๆ
--จบ--

          --มติชน ฉบับวันที่ 25 ก.ค. 2555 (กรอบบ่าย)--


.....มติชน

สุรศักดิ์ พลอาชา (Artwork : หนังสือพิมพ์บ้านเรา) 081 727 9759
http://newstak.blogspot.com/ (เว็บบล็อกหนังสือพิมพ์บ้านเรา)
https://www.facebook.com/yadadesign (เฟสบุ๊คหนังสือพิมพ์บ้านเรา)
https://www.facebook.com/yadadesign.pollarchar (เฟสบุ๊คร้านญาดาดีไซน์/ส่วนตัว)




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น