วันศุกร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

พีดีไอตาก อีโคเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นโครงการศูนย์บริหารจัดการกากอุตสาหกรรมฯ

พีดีไอตาก อีโคเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นโครงการศูนย์บริหารจัดการกากอุตสาหกรรมฯ




วันนี้ (3 กุมภาพันธ์ 2560) ที่ห้องประชุมวิทยาลัยชุมชนตาก ตำบลหนองบัวใต้ อำเภอเมือง จังหวัดตาก บริษัท พีดีไอตาก อีโค จำกัด จัดประชุมเพื่อกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (ค.1) โครงการศูนย์บริหารจัดการกากอุตสาหกรรมเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 500 กว่าคน เพื่อรับฟังรายละเอียดโครงการฯ
นายสมชาย ไตรทิพย์ชาติสกุล นายอำเภอเมืองตาก ซึ่งเป็นประธานพิธีเปิดการประชุมฯ กล่าวว่า โครงการศูนย์บริหารจัดการกากอุตสาหกรรมเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นนี้สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์การจัดการกากอุตสาหกรรมของภาครัฐ และยังเป็นโครงการที่พัฒนาโดยบริษัท พีดีไอตาก อีโค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของผาแดงฯ ซึ่งที่ผ่านมาโรงงานของผาแดงมีการตรวจสอบดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวดไม่ก่อให้เกิดปัญหากับชุมชน รวมทั้งได้รับความร่วมมือจากบริษัทชั้นนำของประเทศญี่ปุ่นมาร่วมพัฒนาโครงการฯ จึงทำให้มั่นใจได้ว่าการดำเนินโครงการใหม่จะมีมาตรฐานที่เข้มงวดในระดับสากล
นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากกรมโรงงาน เนื่องจากเป็นโครงการที่สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์การจัดการกากอุตสาหกรรม พ.ศ. 2558-2562 ของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งจะทำให้กากอุตสาหกรรมได้รับการกำจัดอย่างถูกหลักวิชาการ มีความปลอดภัยต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศและลดการลักลอบทิ้งของเสียอุตสาหกรรมอย่างผิดกฎหมาย
โครงการฯ จะใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงจากประเทศญี่ปุ่น โดยได้รับการออกแบบเพื่อปกป้องปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นและการปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมอย่างรัดกุมและมีประสิทธิภาพหลายขั้นตอน ทำให้มั่นใจได้ว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการดูแลและปกป้องสิ่งแวดล้อม และดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมมาอย่างยาวนานกว่า 30 ปี ทำให้มั่นใจได้ว่าบริษัทฯ จะดำเนินโครงการฯ เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดทั้งต่อสังคม ประเทศชาติและชุมชน
สำหรับของเสียอุตสาหกรรมที่โครงการฯ รับกำจัด ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปที่หมดอายุหรือไม่ได้ตามมาตรฐานจากกระบวนการผลิต (เช่น ภาชนะหรือบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ผ่านการตรวจสอบ) น้ำเสียจากอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ เศษผ้าและเศษกระดาษที่ปนเปื้อนสีหรือน้ำมันหล่อลื่น เป็นต้น โดยส่วนใหญ่จะรองรับของเสียอุตสาหกรรมในเขตพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางของประเทศ ในช่วงแรกโครงการฯ จะใช้เงินลงทุนประมาณ 300-400 ล้า
นบาท โดยคาดว่าจะเปิดดำเนินการภายในปี 2562 และจะมีการจ้างงานประมาณ 80 คน

การประชุมดังกล่าวเป็นการเปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งแรกเกี่ยวกับโครงการ เพื่อรับฟังข้อห่วงใยต่างๆ และนำไปจัดทำมาตรการและสร้างความมั่นใจต่อการดำเนินโครงการฯ พร้อมทั้งยังทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับฟังข้อมูลรายละเอียดโครงการอย่างถูกต้องและมีความเข้าใจที่ดี
หนังสือพิมพ์บ้านเรา จังหวังตาก
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ : 0994535966
pollarchar@hotmail.com
Line ID : takstudio

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น